ชนิดของผึ้ง มีกี่แบบ ? แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร ?

ชนิดของผึ้ง มีกี่แบบ

น้ำผึ้งคือสารให้ความหวาน ที่เรารู้จักกันดีว่าได้มาจากการทำหน้าที่ของผึ้งงานแต่ละชนิด นำน้ำผึ้งหรือน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ต่างๆเช่น ดอกลำไย ดอกสาบเสื้อ และดอกไม้ป่า หรือน้ำหวานจากพืชชนิดอื่น ๆ ไปเก็บสะสมไว้ในรังผึ้ง ซึ่งนอกจากน้ำผึ้งที่ได้จะมีรสชาติ ความหอมหวาน และสีที่แตกต่างกันจากชนิดของเกสรดอกไม้ที่ผึ้งนำมาแล้ว น้ำหวานที่ได้จากผึ้งแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันด้วย วันนี้ อองตอง จะพาทุกคนไปสำรวจโลกของผึ้งกัน

ผึ้งมีกี่ชนิดแตกต่างกันอย่างไร

ชนิดของผึ้ง ที่พบในประเทศไทย จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร จะมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ผึ้งหลวง ผึ้งมิ้ม ผึ้งม้าม ผึ้งโพรง และ ผึ้งพันธุ์ ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะรวมถึงคุณภาพของน้ำผึ้งที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. ผึ้งหลวง(Apis dorsata) 

ผึ้งหลวงเป็นผึ้งพื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทยและประเทศอื่น ๆ ทางคาบสมุทรอินเดียและเอเชียอาคเนย์ มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาผึ้งทั้ง 5 ชนิด มีความแข็งแรงและเป็นผึ้งที่มีนิสัยดุร้ายเมื่อถูกคุกคาม ผึ้งหลวงจะสร้างรังขนาดใหญ่อยู่ตามที่สูงๆ รวงผึ้งจะมีลักษณะเป็นรวงเดียวห้อยอยู่ตามหน้าผา ตามภูเขา โขดหิน ตามชะง่อนผา ตามต้นไม้ใหญ่ มุมตึก หรือชายคาบ้าน ผึ้งหลวงเป็นผึ้งที่แข็งแรงมาก ทำให้บินหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ได้ไกลและหากินเก่ง บางครั้งอาจพบรวงผึ้งขนาดใหญ่มีความกว้างมากกว่า 1 เมตร นํ้าผึ้งชนิดนี้มีคุณภาพเข้มข้น รสหวาน คุณภาพดีกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่น แต่เนื่องจากเป็นผึ้งที่มีความดุร้ายจึงไม่นิยมเลี้ยงกัน

2. ผึ้งมิ้ม (Apis florea F.) 

ผึ้งมิ้ม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ผึ้งแมลงวัน เนื่องจากพฤติกรรมชอบตอมขนมหวาน และมีขนาดตัวเท่าแมลงวัน จัดว่าเป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุด ไม่ดุร้าย ขนาดรังไม่ใหญ่มากนักและมีน้ำผึ้งน้อยเนื่องจากหาน้ำหวานไม่เก่ง มักทำรังตามกิ่งไม้ พุ่มไม้เตี้ยๆ หรือกอไผ่ แต่น้ำหวานที่ได้รสหวานแหลมเชื่อกันว่ามีสรรพคุณทางยาสูงกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่น ผึ้งชนิดนี้ไม่นิยมเลี้ยงเนื่องจากชอบอพยพและมีการย้ายรังบ่อย อีกทั้งยังผลิตน้ำผึ้งได้น้อยกว่าผึ้งชนิดอื่นมาก

3. ผึ้งโพรง (Apis cerana F.) 

ผึ้งโพรง เป็นผึ้งขนาดกลางตัวใหญ่กว่าผึ้งมิ้มแต่เล็กกว่าผึ้งหลวง ผึ้งชนิดนี้ในธรรมชาติจะทำรังด้วยการสร้างรวงผึ้งซ้อนกันอยู่ในโพรงไม้ หรือโพรงหินที่มีปากทางเข้าค่อนข้างเล็ก แต่ภายในมีที่กว้างพอให้ผึ้งสร้างรวงได้ เป็นชนิดที่นิยมนำมาเลี้ยงและได้ผลดีหากเลี้ยงตามสวนมะพร้าว สวนลิ้นจี่ สวนลำไย หรือสวนผลไม้ต่าง ๆ  สามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 30-50 กิโลกรัมต่อรังต่อปี

4. ผึ้งม้าม (Apis andreniformis) 

ผึ้งม้าม เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กเท่ากับผึ้งมิ้ม ขนาดรัง และนิสัยการสร้างรัง การหาอาหาร ไม่แตกต่างไปจากผึ้งมิ้ม แต่จะแตกต่างเฉพาะลักษณะเหล็กใน ปีก และอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ ซึ่งจะแยกแยะได้ยากมาก

5. ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera F.) 

เป็นผึ้งพื้นเมืองของทวีปแอฟริกาและยุโรป มีลำตัวใหญ่รองลงมาจากผึ้งหลวง และใหญ่กว่าผึ้งโพรง ผึ้งชนิดนี้นิยมเลี้ยงมากที่สุด ถูกนำเข้ามาเลี้ยงเพื่อผลิตน้ำผึ้งโดยเฉพาะ พันธุ์ที่นิยมเลี้ยงได้แก่ ผึ้งพันธุ์อิตาเลี่ยน ผึ้งพันธุ์คาร์นิโอลาน ผึ้งพันธุ์คอเคเซี่ยน และผึ้งพันธุ์ดำ  

สังคมของผึ้งแต่ละรัง

ผึ้ง เป็นสัตว์ปีกหรือแมลงที่มีสังคม (Social insect) และแบ่งหน้าที่การทำงานแตกต่างกันไปตามชั้นวรรณะของผึ้ง โดยประชากรของผึ้งแบ่งตามชั้นวรรณะได้ดังนี้

1. ผึ้งนางพญา (Queen) 

ผึ้งนางพญา เป็นผึ้งตัวใหญ่ อายุขัยของผึ้งนางพญามากกว่า 1 ปี มีบางตัวอายุขัยอาจมากถึง 7 ปี และใน 1 รังจะมีผึ้งนางพญาเพียง 1 ตัวเท่านั้น ทำหน้าที่ผสมพันธุ์ วางไข่ และควบคุมประชากรผึ้งชั้นวรรณะอื่นด้วยสารเคมีที่เรียกว่าฟีโรโมนส์ไปทั่วรัง เพื่อควบคุมสมาชิกหรือประชากรผึ้งภายในรังให้เป็นไปอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยผึ้งนางพญาจะอาศัยอยู่ภายในรัง ไม่ออกหาอาหารแต่จะถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงานคอยดูแลป้อนอาหารและนำของเสียจากนางพญาไปทิ้ง

2. ผึ้งตัวผู้ (Drone) 

ผึ้งตัวผู้ เป็นประชากรผึ้งที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น อายุขัยประมาณ 4-6 สัปดาห์ เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน มีลิ้นสั้นสำหรับเลียอาหารจากผึ้งงาน ไม่ออกหาอาหารหรือออกหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ป่าและจะทำหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ คอยผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา พฤติกรรมผสมพันธุ์ ในวันที่อุณหภูมิเหมาะสม ผึ้งตัวผู้จะผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา หลังจากผสมพันธุ์ผึ้งตัวผู้จะตาย โดยยังค้างอวัยวะสืบพันธุ์ติดอยู่กับผึ้งนางพญา หากหมดฤดูผสมพันธุ์ ถ้าผึ้งตัวผู้ตัวใดไม่ได้ผสมพันธุ์ก็จะถูกไล่ออกจากรังหรือผึ้งงานไม่ป้อนอาหารและตายในที่สุดอยู่ดี

3. ผึ้งงาน (Worker) 

ผึ้งงาน เป็นผึ้งเพศเมียที่เป็นหมัน หรือเกิดจากไข่ที่ได้รับการผสมจากผึ้งตัวผู้ แต่เป็นเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์เพศเนื่องจากรังไข่ฝ่อ มีอายุขัยประมาณ 6-8 สัปดาห์ เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุดใน 3 วรรณะมีหน้าที่ออกหาอาหาร หาน้ำหวานจากธรรมชาติหรือจากการเลี้ยง เช่น จากเกสรดอกลำไย ดอกสาบเสื้อ และดอกไม้ป่า ทำหน้าที่สร้างรังหรือรวงผึ้งจากไขที่ผลิตจากต่อม คอยเลียทำความสะอาดนางพญาและรัง ทำหน้าที่่ป้อนอาหารให้แก่ผึ้งนางพญา และผึ้งตัวผู้ ปัจจุบันน้ำหวานหรือผลผลิตที่ได้จากผึ้ง เช่น เกสรผึ้ง ไขผึ้ง นมผึ้งสด รวงผึ้ง ล้วนเป็นเป็นประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพและความงาม รวมไปถึงการเลี้ยงผึ้งที่นอกจากเป็นการสร้างรายได้จากการขายน้ำผึ้ง ยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากผึ้งเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรของพืชได้ดีที่สุด

เลือกซื้อน้ำผึ้งแท้ 100%

อ่านบทความอื่นๆเกี่ยวกับน้ำผึ้ง